July 17, 2025
วันที่ 10 มิถุนายน 2568 นางสาวสุมนรัตน์ ตรึกตรอง เกษตรอำเภอสิเกา พร้อมด้วย นางสาวอรณิช คะเณย์ และนางสาวบุบผา สมาธิ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ปาล์มน้ำมันและสุ่มตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ตามนโยบายการบริหารจัดการจัดการสถานการณ์น้ำมันราคาตกต่ำอย่างมีประสิทธิภาพ

เกษตรสิเกา ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ปาล์มน้ำมันและเยี่ยมเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน

……………………………………

วันที่ 10 มิถุนายน 2568 นางสาวสุมนรัตน์ ตรึกตรอง เกษตรอำเภอสิเกา พร้อมด้วย นางสาวอรณิช คะเณย์ และนางสาวบุบผา สมาธิ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ปาล์มน้ำมันและสุ่มตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ตามนโยบายการบริหารจัดการจัดการสถานการณ์น้ำมันราคาตกต่ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยติดตามสถานการณ์ปาล์มน้ำมันจาก

1.นายชัยฤทธิ์ ถ่ายย้วน อดีตนายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดตรัง

2.ผู้จัดการบริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

3.หัวหน้าฝ่ายจัดซื้อ /หัวหน้าฝ่าย QC อาวุโส บริษัท พิทักษ์ปาล์มออยล์ จำกัด

สรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

1.สถานการณ์ปาล์มน้ำมันโซนอันดามัน มีผลผลิตออกมากช่วงเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม ภาพรวมปัจจุบันลดลงประมาณ 40-50% คาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดน้อยลง และปัญหาเรื่องการติดคิวขายโรงงานจะลงลงประมาณปลายเดือนมิถุนายน

2.ลูกค้ารายใหม่ขายกับโรงงานมากขึ้นเนื่องจากช่วงผลผลิตออกมาก ลานเทหยุดรับซื้อ และราคาที่ขายกับโรงงานได้ราคาดีกว่าขายลานเท โดยโรงงานไม่จำกัดปริมาณขั้นต่ำในการรับซื้อ

3.โรงงานมีลูกค้า 3 กลุ่ม (1)เกษตรกรทั่วไป (2)เกษตรกรสมาชิก RSPO (3)ลานเท มีลานเทขายปาล์มน้ำมันให้โรงงานเฉลี่ยโรงงานละ 30 ลานเท ปาล์มน้ำมันที่ขายกับโรงงานมีทั้งจากในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดใกล้เคียง เช่น กระบี่ นครศรีธรรมราช

4. โรงงานเปิดรับซื้อทุกวัน เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดซ่อมบำรุงเครื่องจักรประจำปี

– บริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดรับคิว เกษตรกรทั่วไปและลานเท เวลา 08.00-17.00 น.

– บริษัท พิทักษ์ปาล์มออยล์ จำกัด เปิดรับคิว เกษตรกรทั่วไป เวลา 09.00-18.00 น. และเปิดรับคิวลานเท เวลา 9.00-18.30 น.

5. คุณภาพของปาล์มน้ำมันที่โรงงานต้องการ : สุก สด ร่วง ทะลายสั้น

6. เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่จะตัดสุก สด ร่วง ตามมาตรฐานที่โรงงานรับซื้อกำหนด แต่ลานเทจะคละคุณภาพ

7. สมาชิก RSPO ได้ราคาบวกเพิ่ม 20-40 สตางค์ (ตามคุณภาพ)

8.โรงงานไม่มีนโยบายหลุดรับซื้อจากเกษตรกรรายย่อย โดยลานเทในเครือข่ายของโรงงานหยุดรับซื้อ เนื่องจากผลผลิตเต็มลานเทและมีกำลังการผลิตต่อวันจำกัด ทำให้มีผลลิตค้าง เน่า เสียหาย ซึ่งโรงงานแก้ปัญหาโดยการจัดคิวและโควต้าสำหรับลานเท เพื่อลดปัญหาการติดคิวอีกทางหนึ่งด้วย

9.แนวโน้ม/ทิศทางปาล์ม ปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มของไทยยังน้อยผลิตได้ประมาณ 4.8% เมื่อเทียบกับความต้องการของตลาดโลก คาดว่าราคาจะไม่ต่ำกว่า 4 บาท/กก. ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรเปลี่ยนจากยางพาราเป็นปาล์มน้ำมันมากและมีบางส่วนกังวลเมื่อให้ปาล์มให้ผลผลิต

ปัญหาที่พบของโรงงาน

1. ลานเทแอบอ้างเป็นเกษตรกรรายเดี่ยว ซึ่งพบว่า ปาล์มไม่สด ทะลายเหนียว แน่น ปาล์มเสียหายจากการขนส่ง คละคุณภาพ ทำให้โรงงานต้องคัดปาล์มดิบคืนโดยไม่ตัดราคา

2. การรอคิวของลูกค้าที่มาขาย เนื่องจาก รอคิวตาชั่ง คิวคัดเกรด โรงงานอื่นปิดทำให้มากระจุกตัวกัน

3. ยังคงพบว่าเกษตรกรเร่งรอบตัด ปาล์มสุกไม่เต็มที่

4. ปัจจุบันเครื่องจักรเดินเครื่องตลอด 24 ชม. ต้องชะลอในบางช่วง ทำให้เครื่องจักรเดินไม่เต็มกำลัง

แนวทางแก้ไข/ข้อเสนอแนะ

1. โรงงานจัดคิว แจ้งลานเทล่วงหน้า นัดหมายการรับซื้อ ทำให้ลดปัญหาการจอดค้างซึ่งส่งผลต่อคุณภาพปาล์มน้ำมัน

2. อยากให้หน่วยงานภาครัฐสร้างการรับรู้เรื่องมาตรฐานปาล์มน้ำมันให้เกษตรกรตัดปาล์มสุก สด ร่วง ไม่เร่งรอบการตัด

ภาพ : นางสาวบุบผา สมาธิ นวส.ปฏิบัติการ

ข่าว : นางสาวอรณิช คะเณย์ นวส.ปฏิบัติการ

รายงาน : นายไพโรจน์ เพชรจำรัส นวส.ปฏิบัติการ