
เกษตรสิเกา ให้คำแนะนำการป้องกันกำจัดมอดเจาะลำต้นต้นทุเรียน
………………………………………………………………
วันที่ 13 ธันวาคม 2567 นางสาวสุมนรัตน์ ตรึกตรอง เกษตรอำเภอสิเกา มอบหมายให้นางสาวจอมทอง ชัยภักดี นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ และนางสาวรติยา ก้องก่ำ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง ลงพื้นที่ให้คำแนะนำเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน นายสมเศียร เล่งล้วน และนายเอกพงศ์ ชัยพล เกษตรกรหมู่ที่ 5 ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ซึ่งต้นทุเรียนในแปลงมีอาการใบเหี่ยวและใบไม่สดชื่น เมื่อทำการสำรวจ พบว่า เป็นอาการของมอดเจาะลำต้นทุเรียน จึงได้ให้คำแนะนำวิธีในการป้องกันกำจัดและดูแลต้นหลังจากกำจัดมอดเจาะลำต้นทุเรียนหมดไปแล้ว และให้คำแนะนำการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา (เชื้อสด) เพื่อป้องกันการเข้าทำลายซ้ำของเชื้อราไฟทอปธอร่าซึ่งเป็นเชื้อสาเหตุของโรคโคน-ลำต้นเน่า ในทุเรียน
ลักษณะการทำลาย : มอดเจาะลำต้นเป็นแมลงศัตรูทุเรียนที่พบระบาดในแหล่งปลูกทุเรียนทั่วไป แต่ในพื้นที่จังหวัดตรังเพิ่งพบการเข้าทำลายในปีนี้เป็นปีแรกโดยตัวเต็มวัยจะเจาะเข้าไปกินในลำต้นและกิ่งของทุเรียน แล้วขยายพันธุ์ในต้นทุเรียน การสังเกตต้นที่มีการเข้าทำลายจะมีรูพรุนตามโคนต้นและที่ปากรูมีมูลลักษณะเป็นขุยละเอียดอยู่ ทั่วไปมอดจะเจาะเข้าไปกินในลำต้นหรือกิ่งลึกตั้งแต่ 2.0-3.0 เซนติเมตรขึ้นไป
พฤติกรรมการเข้าทำลาย : มอดเจาะลำต้นทุเรียนจะเข้าทำลายช่วงที่ทุเรียนอ่อนแอ ซึ่งอยู่ในระยะการแตกใบอ่อนหรือการติดดอกออกผล เข้าทำลายต้นทุเรียนโดยการตัดท่อน้ำท่ออาหารทำให้ลักษณะอาการเหมือนขาดน้ำหรือคล้ายกับอาการโรคไฟทอปธอร่าและทำให้ตายได้ในเวลาอันรวดเร็ว
การป้องกันกำจัด
1. หมั่นตรวจดูตามลำต้นทุเรียน ถ้าพบกิ่งแห้งที่ถูกมอดทำลายควรตัดและนำไปเผา อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้มอดขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณและระบาดไปยังต้นอื่น ๆ
2. สำหรับส่วนของต้นทุเรียนที่ไม่สามารถตัดทิ้งได้ เช่น ลำต้นหรือกิ่งใหญ่ อาจจำเป็นต้องใช้สารป้องกันกำจัดแมลง เช่น ฟิโพรนิล คาร์บาริล ไซเพอร์เมทริน
3. ให้ปุ๋ยในปริมาณที่ถูกต้องและเหมาะสมเพื่อสร้างความแข็งแรงให้แก่ต้นทุเรียน
ภาพ/ข่าว/รายงาน : นางสาวจอมทอง ชัยภักดี นวส.ชำนาญการ











