เกษตรปะเหลียน ร่วมบอกเล่าการขับเคลื่อนการดำเนินงานพริกไทยตรัง(Trang Pepper) ซึ่งขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการที่ 2 ของจังหวัดตรัง ผ่านรายการเวทีคนตรัง ออกอากาศทาง FM 91.25 MHz สวท. ตรัง

วันที่ 12 มิถุนายน 2568 นายสุภัทธ คงด้วง เกษตรอำเภอปะเหลียน มอบหมายให้นางสาวปราณี แข็งแรง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ร่วมกับนายอนุพงษ์ ก้าวสัมพันธ์ เกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีใจรักด้านการผลิตพริกไทย ร่วมบอกเล่าการขับเคลื่อนการดำเนินงานพริกไทยตรัง(Trang Pepper) ซึ่งขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการที่ 2 ของจังหวัดตรัง ผ่านรายการเวทีคนตรัง ออกอากาศทาง FM 91.25 MHz สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดตรัง โดยมีนางสาวยอยศพร อรรคไกรสีห์ นักสื่อสารมวลชนชำนาญการ เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีนางสาวกชกมล ปิ่นแก้ว นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง เป็นผู้ประสานงาน ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดตรัง

อำเภอปะเหลียน เป็นพื้นที่ที่ปลูกพริกไทยดั้งเดิมของจังหวัดตรังตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน และมีการส่งเสริมการปลูกอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเรียกชื่อตามชื่ออำเภอว่า “พริกไทยพันธุ์ปะเหลียน” เพื่อให้พันธุ์ของพริกไทยพื้นเมือง(ปะเหลียน) ไม่สูญหายและขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลสุโสะ ได้ร่วมกับเกษตรกรในตำบลสุโสะ ได้จัดทำแปลงขยายพันธุ์พริกไทยพันธุ์พื้นเมือง (ปะเหลียน) ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ปลูกเป็นไม้ประดับและพืชสวนครัวรวมถึงเพื่อการค้า พริกไทยตรังในปัจจุบันมีการปลูกกระจายทั่วทั้งจังหวัด ด้วยกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ คือรสชาติเผ็ดร้อนและกลิ่นหอมกว่าพริกไทยทั่วไป ทำให้ พริกไทยตรังเป็นที่นิยมในการนำไปเป็นส่วนผสมในอาหารต่างๆ เพื่อให้รสชาติอาหารดียิ่งขึ้น และในปี 2563 พริกไทยตรัง ได้รับการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นรายการที่ 2 ของจังหวัดตรัง

โดยในส่วนสำนักงานเกษตรอำเภอปะเหลียน ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง มีการส่งเสริมเรื่องพริกไทยตรังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ ให้คำแนะนำ และส่งเสริมการรวมกลุ่มในรูปแบบต่างๆ เช่น กลุ่มส่งเสริมอาชีพ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มแปลงใหญ่ รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณโครงการต่างๆ เช่น สนับสนุนต้นพันธุ์ ปัจจัยการผลิต ฉลาก บรรจุภัณฑ์ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพการผลิต มีการบริหารจัดการกลุ่ม และเชื่อมโยงการตลาด

นายอนุพงษ์ ก้าวสัมพันธ์ อดีตพนักงานบริษัทที่มีประสบการณ์ด้านการผลิตและแปรรูปพริกไทยอยู่ในบริษัทชั้นนำของประเทศ แล้วผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มุ่งมั่นจะกลับมายกระดับมาตรฐานและสร้างแบรนด์พริกไทยตรังให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น กล่าวว่า ตนมีแนวคิดหลักคือ กระบวนการจัดการตั้งแต่แปลงปลูกสู่ตลาด ต้องควบคุมตั้งแต่การเพาะปลูก การผลิต การแปรรูป จนถึงการตลาด โดยยึดหลักการเกษตรที่ดี (GAP) มาตรฐานการผลิต และความต้องการของผู้บริโภค

โดยมีขั้นตอนดังนี้

1. การจัดการแปลงปลูก ต้องมีการจัดการแปลงและการดูแลพืชอาหารที่ดี ใช้ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม ปฏิบัติตามหลัก GAP เพื่อให้ได้วัตถุดิบคุณภาพ

2. การแปรรูปขั้นต้น การตรวจสอบและคัดแยกคุณภาพผลผลิต การแปรรูปเบื้องต้น เช่น การตากแห้งการคัดเกรด การควบคุมคุณภาพและสุขลักษณะโรงงาน มาตรฐานสินค้าและสถานที่ผลิต ควรได้รับการรับรองมาตรฐาน ตามหลักการผลิตอาหาร

3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาด ผลิตภัณฑ์พริกไทยที่แปรรูปมีหลากหลาย มีการสร้างแบรนด์ ตราสินค้าและโลโก้ มีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เช่น การออกบูธ การวางจำหน่ายสินค้าตามศูนย์จำหน่ายสินค้า และอื่นๆ

ในส่วนของคุณอนุพงษ์ มีผลิตภัณฑ์พริกไทยหลากหลาย ได้แก่ พริกไทยดำ พริกไทยขาว พริกไทยบด และอื่นๆ เช่น ไอศครีมพริกไทย ภายใต้แบรนด์“ลดา” และ “3เหรียญ” โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 099-3204698